Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

กินตามธาตุดับร้อน อย่างไรได้สุขภาพ

และเป็นเดือนที่พระอาทิตย์โคจรมาทำมุมตั้งฉากกับประเทศไทย ร้อนมากๆ คนเรามักไม่อยากอาหาร แค่ขยับตัวออกนอกแนวพัดลมยังไม่อยาก หรือเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ จ่อมจมอยู่ในโซฟาดูทีวี เล่นสมาร์ทโฟน พร้อมกับขนมขบเคี้ยวรอบตัว โดยเฉพาะบรรดาเครื่องดื่มหวานๆ เย็นๆ ทั้งหลายที่ให้ความสดชื่นก็จริง แต่เต็มไปด้วยปริมาณน้ำตาล สิ่งที่ตามมาคือ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ที่น่าตกใจคือ ตัวเลขจากการสำรวจการบริโภคน้ำตาลของคนไทยเมื่อปี 2544 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 16 ช้อนชาต่อวัน ขณะที่ร่างกายคนเราต้องการเพียงวันละไม่เกิน 6 ช้อนชาเท่านั้น จึงเป็นที่มาของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อทั้งหลาย นับตั้งแต่โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไตวาย ฯลฯ แล้วในฤดูร้อนถึงร้อนมากอย่างนี้เราควรเลือกอาหารอย่างไร

คลายร้อนในแบบ ‘นักโภชนาการ’

ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า โดยทั่วไปเราจะเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หรืออาหารที่เบา ถ้าเป็นพวกเนื้อสัตว์ก็อาจจะเป็นปลา หรือโปรตีนจากพืชจำพวกเต้าหู้ หรือไข่ มากกว่าจะเลือกเนื้อหมู เนื้อวัว ซึ่งย่อยยากกว่า เพราะในหน้าร้อน อากาศร้อนมากๆ เรามักไม่ค่อยไปออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอะไรมาก โดยมากมักจะหลบแดดอยู่แต่ในบ้าน ฉะนั้นจึงควรลดการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูงๆ อย่างเนื้อหมูหรือเนื้อวัว

เมื่อไม่ค่อยออกกำลังกายก็ไม่ควรนั่งทานแต่ขนมจุกจิก หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มบางอย่างที่เย็นๆ ดื่มแล้วชื่นใจ แต่ถ้าหวานเกินไปก็มีผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งไม่ควรดื่มมากเกินไป รวมทั้ง “ไอศกรีม” ที่ทั้งหวานและมีไขมันสูง ต้องระมัดระวังอย่ารับประทานมากเกินไป

น้ำเปล่าที่เป็นน้ำเย็นดีที่สุด

สำหรับเมนูคลายร้อน ผศ.ดร.อาณดี บอกว่า ถ้าเป็นเมนูแบบไทยๆ มี “ข้าวแช่” ที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ที่พอหน้าร้อนอากาศร้อนก็จะทำข้าวแช่กัน บางเจ้าใส่น้ำแข็งด้วยก็ชื่นใจดี แต่ต้องระวัง “กับข้าว” ที่มากับข้าวแช่ อย่าให้มันเกิน หรือหวานเกิน นอกจากนี้ เมนูอื่นที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยเห็นคุณย่าคุณยายรับประทาน ก็จะเป็น “ปลาแห้งกับแตงโม” หรือ “ปลาแห้งกับมะม่วงสุก” ทานเป็นกับข้าว เย็นชื่นใจคลายร้อน

แน่ะ เอ่ยถึง “มะม่วงสุก” สิ่งที่ตามมาในหน้าร้อนอย่างนี้ไม่พ้น “ข้าวเหนียวมะม่วง” หอมมันด้วยน้ำกะทิ แต่เดี๋ยวก่อน…มะม่วงเป็นผลไม้ตามฤดูกาลก็จริง แต่มากเกินไปก็ไม่ไหว เพราะ “ข้าวเหนียวมูน” ทั้งหวานและมัน และมะม่วงสุกก็มีน้ำตาลอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ควรทานมาก อาทิตย์ละ 1-2 ครั้งก็พอ แต่ก็ต้องขนาดพอประมาณ คือมะม่วงครึ่งซีก ข้าวเหนียวหน่อยหนึ่ง เพราะถ้าทานทุกวัน น้ำหนักจะขึ้น เหมือนกับหน้าทุเรียน ถ้าโหมทุกวันก็น้ำหนักขึ้น

เมนูของคนสมัยใหม่อาจจะรับประทานเป็น “สลัด” หรือ “ยำ” ซึ่งถ้าไม่อิ่มอาจใส่ผักสดมากๆ ใส่เนื้อสัตว์บ้าง หรือ ถ้าหิวเร็ว อาจใช้วิธีทานผลไม้ระหว่างมื้อ

พูดถึงผลไม้ที่เหมาะสำหรับหน้าร้อน อ.อาณดี บอกว่า ในเชิงวิชาการไม่ได้มีการศึกษาอย่างชัดเจนว่าอะไรดีหรือไม่ดีในยามอากาศร้อน แต่หลายอย่างเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ซึ่งอาจไม่มีการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ เช่น “แตงโม” รวมทั้งตระกูลแตงทั้งหลาย อย่าง แตงกวา ที่มีฤทธิ์ดับร้อน

“โดยทั่วไปถือว่าถ้าเราทานผักผลไม้สดในปริมาณที่มากหน่อย ข้อดีประการหนึ่งคือ เราได้น้ำเข้าไปด้วย เพราะในหน้าร้อนเราจะเสียน้ำเยอะ ยิ่งถ้าเดินออกไปแป๊บเดียว เหงื่อก็ออกแล้ว ฉะนั้นควรดื่มน้ำมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าร่างกายขาดน้ำจะไม่สบาย ถ้าผักผลไม้ที่แนะนำคือ ผักผลไม้ที่ฉ่ำน้ำ เพราะจะช่วยในเรื่องของการแก้กระหาย และเพิ่มน้ำให้ร่างกายด้วย”

ที่สำคัญคือเรื่องความสะอาด นอกจากควร “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ” ต้องใส่ใจในกลิ่นและรสชาติของอาหารเป็นพิเศษ เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารเสื่อมสภาพหรือเน่าเสียได้ง่าย ฉะนั้น จึงต้องระวังเมื่อไปช้อปปิ้งแล้วซื้ออาหาร อย่าปล่อยไว้นานโดยไม่เก็บใส่ตู้เย็น

ขณะเดียวกัน เมื่อต้องออกไปรับประทาน ซื้ออาหารนอกบ้าน ต้องสังเกตอาหารนั้นว่ามีกลิ่นหรือรสชาติผิดปกติหรือไม่ เพราะบางครั้งวัตถุดิบที่ร้านค้าใช้อาจตั้งทิ้งไว้นานโดยไม่ได้ใส่ตู้แช่เย็น เมื่อนำมาปรุงทำให้อาหารบูดง่าย เสี่ยงต่อการเป็นโรคท้องร่วงหรือท้องเสียได้

รู้จักตน ผ่าน ‘ธาตุเจ้าเรือน’

ที่กล่าวมาเป็นมิติของวิทยาศาสตร์การอาหารคือ ควรทานอาหารที่ให้พลังงานไม่มาก ซึ่งจะว่าไปเป็นหลักการที่สอดคล้องกับทฤษฎีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนจีน ตำราทางอายุรเวทของอินเดีย หรือแม้กระทั่งในฟากตะวันตก อย่าง โหราเวชศาสตร์ เชื่อกันว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การดูแลสุขภาพของแต่ละคนจึงต้องว่ากันตามธาตุเจ้าเรือน

นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์และนักวิชาการด้านธรรมชาติบำบัด อธิบายถึงหลักการพื้นฐานการดูแลสุขภาพตามธาตุเจ้าเรือน ว่า ในการแพทย์องค์รวม เช่น แพทย์แผนไทย แผนจีน แผนฝรั่ง มีการกล่าวถึงมุมมองของชีวิตและสุขภาพเหมือนกันหมดว่า “คนเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” มนุษย์เกิดมาโดยหยิบยืมเอาธาตุทั้งสี่ หรือแปลเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า “พลังงานธรรมชาติ 4 รูปแบบ” คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาสร้างเป็นกายของตน

ดังนั้น การจะทราบว่าใครมีสัดส่วนของธาตุใดในร่างกายมากที่สุด เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การดูแลสุขภาพ จึงต้องคำนวณย้อนกลับไปที่จุดปฏิสนธิของคนๆ นั้นว่า ในวันและเวลาเกิดของเขา มีปัจจัยทางธรรมชาติใดมามีอิทธิพลต่อการปฏิสนธิมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากธาตุใดมีมากเป็นพิเศษ ก็จะคาดเดาได้ว่าในอนาคตคนๆ นั้นก็มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพไปในทางกลุ่มโรคใดกลุ่มโรคหนึ่ง

ยกตัวอย่างคนที่เกิดเดือน ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ นับตามกำหนดครรภ์ปกติ 9 เดือน คนกลุ่มนี้น่าจะมีปฏิสนธิในท้องแม่ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมตามลำดับ ซึ่งช่วงเดือนดังกล่าวในประเทศไทยเป็นช่วงหน้าร้อนที่ธาตุไฟสูงที่สุดในรอบปี เด็กๆ ที่ปฏิสนธิในช่วงนั้น จึงมีธาตุเจ้าเรือนเป็น “ธาตุไฟ”

เช่นเดียวกันกับคนที่เกิดประมาณเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม จะมีปฏิสนธิตรงกับเดือนมิถุนายนถึงสิหาคม ซึ่งเป็นฤดูมรสุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนที่เกิดในช่วงดังกล่าวจึงมี “ธาตุลม” ในร่างกายแปรปรวนมาตั้งแต่แรกเกิด การหายใจ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในระดับเซลล์ทำได้ไม่ค่อยดี จึงมักมีอาการเกี่ยวกับอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม โรคหัวใจ ฯลฯ ตามมาได้มาก แพทย์แผนไทยจึงจัดกลุ่มว่าเป็นคนที่มีธาตุเจ้าเรือน “ธาตุลม”

กลุ่มคนที่เกิดราวปลายเดือน มิถุนายนถึงสิงหาคม ปฏิสนธิราวปลายสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเข้าพรรษาหรือหน้าฝนไปจนถึงเดือนตุลาคม ถือเป็นช่วงน้ำหลาก มีความชื้นในอากาศสูงที่สุด คนที่เกิดมาในช่วงนั้นจึงรับเอาอิทธิพลน้ำหลากความชื้นสูง จึงมี “ธาตุน้ำ” ในตัวมากเป็นพิเศษ

สำหรับคนกลุ่มสุดท้ายที่เกิดราวเดือน กันยายนถึงพฤศจิกายน ปฏิสนธิราวปลายเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม นั่นหมายความว่าหลังเดือนพฤศจิกายนที่เราลอยกระทง น้ำจะเริ่มลดในเดือนธันวาคม, มกราคม ซึ่งเป็นเดือนอ้ายเดือนยี่ตามการนับของคนสมัยก่อน น้ำที่หลากได้พัดพาเอาหน้าดินดีๆ หรือ “ฮิวมัส” มาทับถมตามลุ่มแม่น้ำ เป็นหน้าดินใหม่สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก

คนที่เกิดในช่วงเวลานี้จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มธาตุเจ้าเรือน “ธาตุดิน” ซึ่งมักมีรูปร่างกำยำล่ำสัน โครงกระดูกใหญ่ แต่อาจเจ้าเนื้อได้ง่าย รวมถึงมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับกระดูกงอกทับเส้น หรือผังผืดอย่าง ช็อกโกแลตซีสต์ ได้ง่ายเป็นต้น

การจัดอาหารให้คนแต่ละธาตุกินจึงต่างกัน การเลือกใช้ยาสมุนไพรบำรุงร่างกายก็แตกต่างกันไปด้วย ทำให้การแพทย์องค์รวมโดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์ส่วนบุคคลอย่างถึงที่สุด โดยอาศัยความเข้าใจของอิทธิพลฤดูกาลบนโลกมาคำนวณนั่นเอง

กินตามธาตุดับร้อน

เมื่อมีความเข้าใจในธรรมชาติที่เป็นไปในสรีรวิทยาของแต่ละคนแล้ว ทำให้เกิดข้อแนะนำอาหารตามธาตุเจ้าเรือนต่างๆ ขึ้นมา เพื่อรักษาสมดุลต่างๆ ของร่างกายไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น เรียกว่าเป็นเวชศาสตร์เชิงป้องกันก็ว่าได้

สำหรับ “คนธาตุไฟ” ที่มีแนวโน้มที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาอักเสบได้ง่าย ทุกครั้งที่มีการอักเสบร่างกายจะสูญเสียน้ำไปในกระบวนการอักเสบและเผาผลาญส่วนหนึ่ง โดยพื้นฐานแล้วร่างกายของคนธาตุไฟจึงมีประมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนอบอ้าวจึงยิ่งทำให้คนธาตุไฟมีปัญหามากขึ้นไปอีก จึงควรดื่มน้ำบ่อยๆ ในปริมาณที่มาก เน้นจิบบ่อยๆ แทนที่จะดื่มรวดเดียว สังเกตดูว่าปัสสาวะหายข้นจึงเป็นประมาณที่ใช้ได้

ว่าที่จริงการอักเสบก็คือปฏิกิริยาอนุมูลอิสระที่มากนั่นเอง การกินสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง “วิตามินซี” ที่มีมากในผักผลไม้รสเปรี้ยวจึงมีส่วนช่วยให้การอักเสบลดลง การกิน ผักประเภทแตงกวา (Cucumber) นอกจากให้ปริมาณน้ำมากเป็นพิเศษแล้ว ยังมีสาร Cucurbitacin เป็นสารช่วยลดการอักเสบ และลดความดันโลหิตได้อย่างดี แพทย์แผนไทยจึงเน้นให้คนธาตุไฟกินรส ขม เย็น จืด และผลไม้รสเปรี้ยวบำรุงน้ำในหน้าร้อน

“คนธาตุน้ำ” มีภาษีค่อนข้างดีกว่าคนธาตุไฟในช่วงหน้าร้อน เพราะมีประมาณน้ำที่ถูกเก็บไว้ในตัวมากกว่า แต่เพื่อความไม่ประมาท การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ รักษาร่างกายให้เย็น ไม่ตากแดดมากเกินไป หรือไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะเป็นคำแนะแนวทางอาหารในช่วงหน้าร้อนที่เพียงพอสำหรับคนธาตุนี้

ในทางตรงกันข้าม “คนธาตุลม” ซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนเวลาหายใจ มักจะเกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ เพราะความดันโลหิตไม่ค่อยจะปกติ ยิ่งในหน้าร้อนจัดๆ ยิ่งแล้ว อาการมีแนวโน้มที่จะกำเริบได้ง่ายๆ

อาหารที่แนะนำส่วนใหญ่ยังอยู่ในการกินน้ำ และอาหารที่มีผักผลไม้เป็นพื้นอยู่คล้ายคนธาตุไฟ แต่ที่อาจ เน้นเพิ่มเติมเป็นพิเศษคือ อาหารรสร้อน ที่ช่วยขับลม ซึ่งเราพบว่าอาหารไทยอย่างอาหารใต้จะมีขมิ้น พริกไทยค่อนข้างมาก (หรืออาหารจีนแถบเสฉวนที่อากาศร้อนชื้นจะมีรสเผ็ดร้อนค่อนข้างมาก) แนวอาหารดังกล่าวกินร้อนเพื่อขับเหงื่อ ระบายความร้อนออกจากร่างกาย สรรพคุณของอาหารรสร้อนอย่างพริกไทยจะเร่งการบีบตัวของลำไส้ส่วนหนึ่ง เมื่อลมในลำไส้ระบายได้ดี อาการมึนงงวิงเวียนที่เรียกว่า “ลมกองละเอียดตีขึ้นเบื้องสูง” ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

ส่วน “คนธาตุดิน” ที่มีร่างกายบึกบึนแข็งแรงอยู่แล้วมักไม่ค่อยกระทบกับอากาศในหน้าร้อนมากนัก ถ้าจะมีปัญหาประจำธาตุอยู่บ้างก็คือเรื่องของท้องผูก ขับถ่ายไม่ค่อยสะดวก ซึ่งมักจะเป็นผลสืบเนื่องจากการขาดน้ำนั่นเอง การเน้นการดื่มน้ำ และกินผักผลไม้ จึงยังคงเป็นข้อเน้นย้ำในการดูแลสุขภาพตามธาตุของคนทุกๆ ธาตุในหน้าร้อน

อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลของโลกไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพตามธาตุเจ้าเรือนเท่านั้น คนที่เกิดปฏิสนธิเดือนเดียวกัน แต่คนหนึ่งเป็นช่วงเดือนเพ็ญที่น้ำขึ้น อีกคนเป็นช่วงเดือนแรมที่น้ำลง พื้นฐานการดูแลสุขภาพก็ต่างกัน

การดูแลสุขภาพด้วยอาหารในช่วงหน้าร้อนตามธาตุเจ้าเรือนจึงแค่แนวทางคร่าวๆ เท่านั้น

 

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์