Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ทำอย่างไร เมื่อ ‘ ไอ’ รังควาน

เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และยังเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ

เมื่อมีเหตุกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สารเคมี หรือรอยโรคบางอย่าง ตัวรับสัญญาณการไอจะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมการไอในสมอง

ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปที่กล้ามเนื้อ และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการไอ เช่น กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้เกิดกระบวนการไอขึ้น

หากแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ เราสามารถแบ่งอาการไอได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ 

1.ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 8 สัปดาห์ สาเหตุของอาการไอเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คออักเสบ หลอดลมอักเสบ

2.ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์ ไอเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบได้ถึงร้อยละ 11 - 20 ของจำนวนประชากร โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 

อาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคคอ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม กรดไหลย้อน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หืด วัณโรคปอด

การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน และโรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ เป็นต้น

แต่สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่แข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACE-I และมีภาพรังสีทรวงอกปกติ มักเกิดจาก โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน

การรักษา

การรักษาอาการไอที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอ และรักษาตามสาเหตุ การรับประทานแต่ยาแก้ไอ หรือยาขยายหลอดลมเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ อาการไออาจบรรเทาลงเมื่อใช้ยาแก้ไอ แต่ถ้าสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อหยุดใช้ยาก็ต้องกลับมาไอเหมือนเดิม

สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ได้แก่ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น สารก่ออาการระคายเคือง มลพิษทางอากาศ อากาศเย็นๆ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น

การรับประทานไอศกรีม หรืออาหารที่ระคายคอ เช่น อาหารทอดด้วยน้ำมัน ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ไม่เปิดพัดลมเบอร์แรงสุด และควรเปิดพัดลมส่ายไปมา

ปิดปาก และจมูกเวลาไอด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ ล้างมือทุกครั้งถ้าใช้มือปิดปากเวลาไอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ และงดสูบบุหรี่ ยาบรรเทาอาการไอ 

แม้ว่าการใช้ยาบรรเทาอาการไอจะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่บางครั้งก็มีความจำเป็น เนื่องจากอาการไอรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ยาบรรเทาอาการไอแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ยาลด หรือระงับอาการไอ ยาอาจออกฤทธิ์ที่จุดรับสัญญาณการไอส่วนปลายหรือออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมอาการไอ เช่น dextrometrophan, codeine (codeine เป็นยาควบคุม การซื้อยาชนิดนี้จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์) 

ควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ เพราะถ้าเกิดอาการไอมากๆ โดยเฉพาะในเด็ก เสมหะอาจอุดตันหลอดลม ทำให้ไอมากขึ้น

2.ยาขับเสมหะ ถ้าเหตุของการไอเกิดจากเสมหะ การกระตุ้นให้ขับเสมหะออกไปจะช่วยให้อาการไอดีขึ้น โดยยาจะไปกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ

เพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาณเสมหะมากขึ้น จึงไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น potassium guaiacol sulphonate, terpin hydrate, ammonium chloride ควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ

3.ยาละลายเสมหะ ช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น เช่น ambroxol hydrochloride, bromhexine, carbocysteine ควรเลือกในผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ บางครั้งนิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ อย่างไรก็ตามยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดก็คือ “น้ำเปล่า” นั่นเอง

กล่าวโดยสรุปคืออาการไอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคไม่ร้ายแรง เช่น หวัด คออักเสบ หรือหลอดลมอักเสบ และโรคร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ เนื้องอกบริเวณลำคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไอไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

 


เรื่องโดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล