Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

หยุดติดเตียง กับผู้ป่วยสมองเสื่อม

คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายจะเสื่อมถอยลงตามวัย ส่งผลให้การรับความรู้สึกช้าลง ความคมชัดในการมองเห็นลดลง การทรงตัวแย่ลง 

ทำอะไรไม่กระฉับกระเฉงเหมือนคนหนุ่มสาว ยิ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเดินการเคลื่อนไหว ย่อมส่งผลให้สมรรถภาพของร่างกายถดถอยมากขึ้น

โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อม จะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางในเรื่องการประมวลผล ความเป็นเหตุผล การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหกล้มได้บ่อยกว่าผู้สูงอายุทั่วไป

ภายหลังการหกล้ม คนทั่วไปมักคิดว่า หากมีการบาดเจ็บ นอนพักสัก 2 – 3 วันก็หาย จึงไม่พาผู้สูงอายุมาพบแพทย์ บางคนปล่อยเวลานานกว่านั้น จนผู้สูงอายุมีปัญหาติดเตียง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา จนยากต่อการฟื้นฟูร่างกายกลับมาใกล้เคียงดังเดิม

ที่ถูกคือ ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวควรพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์ เพื่อตรวจดูสภาพร่างกายว่ามีอาการบาดเจ็บส่วนไหนหรือไม่ จะได้รักษาได้ทันท่วงที และถ้าเกิดการบาดเจ็บขึ้น การรักษาอย่างเดียว ไม่สามารถจะช่วยให้หายได้ 

ต้องมีการกระตุ้นผู้ป่วยให้มีการเคลื่อนไหวเท่าที่จะทำได้ เช่น การกระตุ้นให้มีการพลิกตัวเองบนเตียง เพื่อลดปัญหาการเกิดแผลกดทับ กระตุ้นให้นั่งระหว่างมื้ออาหาร ครั้งละ 30 – 60 นาที โดยปรับตามความสามารถของแต่ละคน 

เพื่อส่งเสริมให้สมรรถนะของหัวใจและกล้ามเนื้อได้ปรับตัวพร้อมที่จะยืนหรือเดินต่อไป แต่อย่านั่งนานเกินไป เพราะท่านอาจเมื่อยล้าจากความเสื่อมของหลังที่มีอยู่เดิม และไม่ให้ความร่วมมือในการนั่งครั้งต่อไปได้

นอกจากนี้ควรกระตุ้นให้มีการทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้เอง เช่น รับประทานอาหาร แปรงฟัน ล้างหน้า และควรเพิ่มการออกกำลังกายบริเวณแขนและขา เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชะลอการเกิดภาวะกระดูกพรุนกล้ามเนื้อลีบเล็ก และข้อติดตามมา โดยแกว่งแขน ห้อยขา 

หรือยืนลงน้ำหนักบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง หากสามารถเดินได้ ควรกระตุ้นให้เดินบ่อยเท่าที่ทำได้ ในเวลาที่แน่นอน โดยมีคนเดินไปด้วย ซึ่งนอกจากช่วยดูแลด้านความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ท่านอยากเดินมากขึ้น

การจัดสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ สามารถกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวได้บ่อยขึ้น เช่น เดินไปรับประทานอาหารที่โต๊ะแทนที่จะเป็นบนเตียง 

เดินไปขับถ่ายในห้องน้ำแทนการใช้ผ้าอ้อม หรือกระโถนข้างเตียง รวมทั้งจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย เช่น พื้นไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างเพียงพอ มีราวจับในห้องน้ำ เป็นต้น

และสำหรับผู้สูงอายุที่บ้าน หากท่านมีปัญหาในการทรงตัวหรือหกล้มบ่อย ตั้งแต่ 2 ครั้งต่อปี ญาติควรพามาพบแพทย์จะได้ตรวจหาสาเหตุของการหกล้มและแก้ไขไม่ให้หกล้มซ้ำ ลดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ โดยเฉพาะปัญหากระดูกแตกหัก และภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา

ขอย้ำนะคะ การดูแลเอาใจใส่การเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ หากลูกหลานเข้าใจ และใช้ความอดทน ก็สามารถที่จะทำให้ท่านดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุขค่ะ



เรื่องโดย รศ.พญ.ปิยะภัทร เดชพระธรรม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล