Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

“ชามือชาเท้า” อย่ารอช้า!

แต่ในความเป็นจริงอาการชาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะ "มาก" หรือ "น้อย" อย่างไร? มีความสำคัญ

 

พท.ป.จักรกฤษณ์ มาประจง แพทย์แผนไทยปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรังอาการชา โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

 

ให้ความรู้อาการชา สัญญาณเตือนที่ต้องเฝ้าระวังว่า ชาปลายมือปลายเท้าอาการที่พบเบื้องต้น ผู้ป่วยมักมีอาการหนา ๆ ชา ๆ ที่ปลายนิ้ว เจ็บแปลบ ๆ เหมือนมีอะไรยุบยิบ ๆ ตามปลายมือปลายเท้า หรือเมื่อหยิกจะไม่รู้สึกเจ็บ

 

อาการชาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากหลอดเลือด โดยทั่วร่างกายมีระบบไหลเวียนโลหิต จะเห็นว่าหากลองกดบริเวณท้องแขนค้างไว้เกิน 30 วินาที จะมีอาการชาลงไปที่แขนได้

 

 อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ เส้นประสาท ในกลุ่มผู้สูงอายุมักพบหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาทซึ่งทำให้มีความรู้สึกชาลงมาที่ขา

 

อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ พบประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในวัยทำงาน อย่างเช่น การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวในช่วงบริเวณบ่า และบริเวณนี้มีเส้นประสาทอยู่

 

หากกล้ามเนื้อบีบเกร็งตัวมาก ๆ จะส่งผลต่อเส้นประสาท มีอาการชาลงมาที่แขน นอกจากนี้ เกิดขึ้นจากโรคประจำตัวบางโรค อย่างเช่น โรคเบาหวาน ก็ทำให้เกิดอาการชาได้เช่นกัน และอีกสาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ และการขาดวิตามิน!

 

อาการชาโดยทั่วไปจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในระยะเวลาไม่นาน แต่หากมีอาการชาแขนขา ชาตลอดเวลาเป็นประจำ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 

แต่หากมีอาการชาเป็นบางครั้งคราว ชาแขนขาสัมพันธ์กับการนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ แก้ไขอาการชาได้โดยการออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้อ

 

อาการปวดหรือชามือเป็นประจำ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบลง อีกทั้งร่างกาย ขาดวิตามินบี หรือการทานอาหารที่ไม่ครบห้าหมู่ก็ส่งผลต่ออาการชามือ ชาเท้าได้ ทั้งนี้อาหารที่ให้วิตามินบี ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักใบเขียว รวมถึงธัญพืช ฯลฯ

 

ส่วนอาการชาที่เกิดขึ้นจากโรคประจำ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด น้ำตาลสูงเกิน 200 บ่อย ๆ ทำให้มีอาการชาอยู่เป็นประจำ โอกาสเกิดการบาดแผลก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

 ทั้งนี้อาการชา โดยเฉพาะที่เท้า ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีความรู้สึก มีอาการชา ๆ หนา ๆ หากโดนของร้อน ของมีคมบาด ทำให้ได้รับอุบัติเหตุ เกิดแผลได้ง่าย และเมื่อเกิดแผลขึ้นแล้วจะหายช้า

 

เพราะน้ำตาลเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้แผลหายช้า เป็นภาวะที่น่ากังวลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน  ควรเพิ่มความระมัดระวังทั้งการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม

 

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับของร้อน ๆ และสวมใส่รองเท้าเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล และดูแลเท้าให้สะอาดเสมอ เป็นต้น

 

อาการชาที่เกิดจาก "โรค" กลุ่มนี้จึงควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาสาเหตุอาการ แต่อย่างก็ตาม "อาการชา" เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ควรนิ่งนอนใจหรือมองข้ามไป! ทั้งนี้การเข้าถึงการรักษาได้เร็วยิ่งส่งผลดีต่อการรักษา

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์