Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ขยับกาย สบายชีวี

เป็นการนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน หรือนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จนเกิดอาการที่เรียกว่า “office syndrome”

 

คือมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ เกิดการอักเสบที่ข้อมือและนิ้วจากการพิมพ์ที่คีย์บอร์ดและการคลิกเมาส์

 

เป็นที่น่าประหลาดใจ เมื่อมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า แม้ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 5 ครั้งๆ ละ 1/2-1 ชั่วโมง แต่เวลาที่เหลือกลับนั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ลุกเดินไปไหนหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหว ขยับเขยื้อนร่างกายจะมีสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร

 

ผู้อ่านคงเคยเห็นว่า หลายคนต้องขับรถออกจากบ้าน ไปออกกำลังกายตามสถานที่ออกกำลังกายที่มีราคาแพงๆ แต่พอกลับถึงบ้าน เพียงต้องการจะดื่มน้ำสักแก้ว ก็ต้องเรียกให้เด็กในบ้านไปนำน้ำมาให้ดื่ม

 

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา (NASA) สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยสุขภาพของนักบินอวกาศก่อนบินสู่อวกาศและหลังกลับจากอวกาศ โดยทำการศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี 

 

พบว่านักบินอวกาศที่อยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน จะมีอาการเสื่อมของข้อ กระดูกและกล้ามเนื้อ เท่ากับคนไข้ที่นอนบนเตียงเป็นเวลานานๆ โดยไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนต่างๆ

 

อาการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่บนพื้นโลก 1 ปี จะมีอาการเสื่อมเท่ากับอยู่ในอวกาศเพียง 1-4 สัปดาห์ ในสภาวะสูญญากาศนั้นร่างกายจะเกิดกระบวนการแก่ (aging) เร็วขึ้นถึง 10 เท่า

 

เนื่องจากในสภาะที่ไร้แรงโน้มถ่วง อวัยวะต่าง ๆ จะไม่มีการเคลื่อนไหวที่ต้านกับแรงโน้มถ่วง ในกรณีของนักบินอวกาศ สภาวะทางร่างกายสามารถฟื้นฟูสู่ปกติได้ ถ้าได้รับการรักษาและปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี เมื่อกลับคืนสู่พื้นโลก

 

งานวิจัยในวารสาร American Journal of Preventive Medicine ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะหาวิธีการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนั่งนานๆ โดยศึกษาในกลุ่มสตรีอายุ 37-78 ปี ประมาณ 13,000 คนในประเทศอังกฤษ ทำการศึกษาในระยะเวลาติดต่อกันนาน 20 ปี

 

พบว่าสตรีที่ทำงานหรือทำกิจกรรมที่นั่งอยู่กับที่ มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (ด้วยสาเหตุต่างๆ) สูงกว่าสตรีที่นั่งอยู่กับที่เหมือนกัน แต่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน

 

บางอาชีพที่ต้องยืนเกือบตลอดเวลา เช่น พยาบาล ช่างทำผม พนักงานขายสินค้า ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกัน เช่น เส้นเลือดขอดตามน่อง ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดที่เท้า หลอดเลือดตีบ เป็นต้น

 

วารสารของประเทศอังกฤษ The British Journal of Sports Medicine เผยแพร่ผลงานวิจัยที่แนะนำให้ยืน และทำกิจกรรมเบาๆ ยืดเส้นยืดสาย ยืดกล้ามเนื้อไปด้วย ประมาณวันละ 2-4 ชั่วโมง

 

และผลการวิจัยขององค์การนาซา ที่พบว่าการยืนขึ้น 2 นาที 16 ครั้งต่อวัน กระจายไปตลอดวันทำงาน จะช่วยรักษาประสิทธิภาพของกระดูก และความหนาแน่นของกล้ามเนื้อ

 

การยืนประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้การทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายและเปลี่ยนอิริยาบถ สลับกับการนั่งทำงาน โดยทำสลับกันทั้งวัน จะให้ผลดีกว่าการเคลื่อนไหวร่างกายติดต่อกันครั้งเดียว

 

จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน สามารถทำได้ง่าย ๆ และทำได้ทุกวัน เพียงเท่านี้ เราก็สามารถดูแลสุขภาพร่างกายของเราได้โดยไม่ต้องลงทุนใด ๆ และในบางกรณีอาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย

 

ทั้งนี้การออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลควบคู่กันไปด้วย

 

ที่มา : รองศาสตราจารย์ ดร. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล