Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

`เบาหวาน` เด็กและวัยรุ่นควรใส่ใจ

เคยไหมกินจุแต่กลับผอมลง ปวดปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย และมีภาวะขาดน้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

 

โดยปรกติเวลาเรารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยน เป็นน้ำตาล และร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน 

 

โดยการนำเข้าไปในเซลล์หรือหน่วยเล็กๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์คือฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน

 

ในผู้ป่วยเบาหวานเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ 

 

เนื่องจากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ "โรคเบาหวาน"
ชนิดของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น

 

จริงๆ แล้วมีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 ชนิดหลักคือ

 

1.เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 DM) เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ (ร่างกายขาดอินซูลิน)

 

ด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ มักมีอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด

 

สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น รักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าผิวหนัง 

 

ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาด และยังไม่พบวิธีป้องกัน แพทย์และนักวิจัยกำลังพยายามหาวิธีป้องกันในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

 

เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป

 

2.เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 DM) การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มของอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็ก 

 

ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย เด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 คือเด็กอ้วนและกำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปีเช่นกัน

 

เด็กอ้วนจะมีเซลล์ไขมันจำนวนมาก เซลล์ไขมันเหล่านี้จะปล่อยสารต่างๆ เช่น กรดไขมัน ออกมาทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน หรืออธิบายง่ายๆว่า

 

"อินซูลินที่มีอยู่ไม่สามารถออกฤทธิ์นำน้ำตาลเข้าเซลล์ไปใช้ให้เกิดพลังงานได้ตามปรกติ" ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็น "โรคเบาหวาน" นั่นเอง

 

โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้อาจตรวจพบล่าช้า

 

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยต้องลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการให้ยาชนิดรับประทาน แต่ถ้ารักษาแล้วไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน

 

การป้องกันเบาหวาน เบาหวานชนิดที่ 1 ขณะนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน เบาหวานชนิดที่ 2 พยายามให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ลดอาหารที่ให้พลังงานสูง

 

เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไก่ทอด นมเปรี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ขนมถุงกรุบกรอบ และควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอ้วน

 

วิธีการตรวจหาเบาหวาน

 

ตรวจจากเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็น "เบาหวาน"

 

หรือถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหารหรือหลังกินน้ำตาล (ตามแพทย์สั่ง) เป็นเวลา 2 ชม. มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเป็นเบาหวานเช่นกัน

 

ลองสังเกตดูนะคะว่าบุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก 

 

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคตค่ะ

 

 

ที่มา : โลกวันนี้วันสุข โดย ผศ.พญ.ไพรัลยา นาควัชระ