Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ไขปัญหาสุขภาพทางตากับโทรศัพท์มือถือ

การเพ่งมองหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเป็นจอแบบแอลซีดี แอลอีดี อันเป็นจอที่มักมีขนาดใหญ่กว่าจอโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าอยู่แล้ว

 

จอเหล่านี้ จะให้ความสว่างที่มากกว่าเดิมมาก อีกทั้งยังมักเป็นจอแบบทัชสกรีน ซึ่งสามารถทำงานได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่

 

อาการทางตาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เช่น อาการมึนศีรษะ ปวดตา เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นโดยไม่มีหลักฐานว่าจะกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้เป็นโรคทางตาถาวร

 

หากเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ และมีวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม ก็สามารถป้องกันและลดอาการทางตาได้มาก

 

ในทีนี้จะขอกล่าวถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ ปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับผู้ใช้งานโทรศัพท์ ปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับหน้าจอโทรศัพท์

 

ปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับรูปแบบการใช้งาน และปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมขณะใช้งานผ่านหน้าจอโทรศัพท์

 

ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ

 

อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ทุกคนจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการปรับระยะชัดในการมองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ มองเวลาจากนาฬิกาข้อมือ รวมไปถึงหน้าจอโทรศัพท์

 

การเปลี่ยนแปลงทางสายตานี้ ทำให้ต้องเพ่งมากขึ้นเพื่อให้ภาพชัดเหมือนเดิม หรืออาจใช้วิธีขยับตำแหน่งวัตถุที่มองให้ไกลออกไป ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการมองภาพ 

 

ผู้ที่มีสายตาเปลี่ยนในลักษณะนี้ เรียกว่า สายตาคนสูงอายุ หรืออาจเรียกว่า สายตายาวตอนอายุมาก มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 40 ปี ปัจจัยเรื่องการเกิดสายตาคนสูงอายุ

 

มีผลในการใช้งานหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในผู้ที่เพ่งมองในระยะใกล้นานๆ จะทำให้ปวดตา สายตาล้าได้ง่าย การเพ่งมองติดต่อกันบ่อยๆ อาจทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนชั่วคราว และรู้สึกว่าแว่นตาที่ใช้อยู่ไม่ชัดได้

 

ระดับการมองเห็น ผู้ที่มีโรคทางตา หรือมีความผิดปกติอื่นใดที่ทำให้มีระดับการมองเห็นลดลง (ซึ่งแก้ไขด้วยแว่นสายตาไม่ได้) จะมองเห็นชัดเมื่อวัตถุที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

 

ความคมชัดดี และความสว่างเพียงพอ ดังนั้นการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีขนาดหน้าจอเล็ก ตัวอักษรเล็ก และความคมชัดน้อย จะทำให้เห็นภาพไม่ชัด จึงต้องเพ่งมองทำให้ปวดศีรษะและปวดตาได้

 

ความผิดปกติของค่าสายตา หมายถึง การมีสายตาสั้น ยาว เอียง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ภาพไม่ชัด แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นสายตา

 

ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวจึงควรสวมแว่นขณะใช้งานหน้าจอโทรศัพท์ เพื่อลดการเพ่งมอง หรือฝืนมองทั้งๆ ที่ไม่ชัด

 

ท่าทางในการใช้งานหน้าจอโทรศัพท์ เราจะก้มศีรษะและคอเล็กน้อย หากก้มมากไปและอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณคอด้านหลัง

 

ก่อให้เกิดอาการปวดคอ และอาจปวดร้าวไปตำแหน่งอื่น เช่น ขมับและรอบกระบอกตาได้

 

ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

 

ขนาดของหน้าจอ ขนาดหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่เล็ก ก็จะให้ภาพที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมองยากกว่าหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ ถ้าต้องใช้งานเป็นเวลานานควรเลือกเครื่องที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ดูจะเหมาะสมกว่า

 

ความสว่างของหน้าจอ ควรปรับความสว่างให้เหมาะสม และทำให้มองได้อย่างสบายตา ความสว่างน้อยเกินไป ภาพก็จะไม่ชัด ความสว่างที่มากเกินไป ก็จะแสบตา ไม่สบายตา ซึ่งควรปรับความสว่างนี้ให้เหมาะสม

 

ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับรูปแบบการใช้งาน

 

ระยะเวลาในการใช้งาน หากเราใช้เวลาในการใช้งานหน้าจอนานๆ ก็เกิดผลต่อสุขภาพได้มากกว่าใช้งานในระยะสั้น ปัจจัยนี้เป็นผลโดยตรงจากการที่โทรศัพท์มือถือมีรูปแบบการใช้งานมากขึ้น


ผู้ใช้อาจเพลิดเพลินไปกับการใช้งานต่างๆ เช่น เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกมส์ หรือดูรายการโทรทัศน์ต่อเนื่องกันนานๆ

 

ชนิดของงานที่ทำ ควรเลือกใช้งานผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสมตามความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น การทำงานเอกสารต่างๆ ควรใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก

 

หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ หรือการดูรายการโทรทัศน์ก็ควรจะดูผ่านโทรทัศน์ เพราะจะได้ภาพที่เหมาะสมกับสายตามากกว่า

 

การทำงานเหล่านี้ผ่านหน้าจอโทรศัพท์จึงควรสงวนไว้เมื่อจำเป็น และหากจะใช้ก็เพียงชั่วคราวจึงจะเหมาะสม

 

ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมขณะใช้งานผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

 

โดยมากเกี่ยวข้องกับแสงสว่างโดยรอบ เช่น หากเรากำลังใช้งานหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่มีขนาดหน้าจอเหมาะสม และมีความสว่างเพียงพอ แต่อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างมากเกินไป

 

ก็จะเกิดการสะท้อนที่หน้าจอแอลซีดี ได้มาก ทำให้แสบตาและรบกวนการมองเห็น 

 

กรณีนี้เราอาจปรับมุมของหน้าจอกับระดับการมองเพื่อลดแสงสะท้อน หรืออาจใช้วิธีลดแสงสว่างของห้องลง หรือหากเราใช้งานหน้าจอโทรศัพท์ในห้องที่มีแสงสว่างน้อยไป

 

เราอาจต้องเพิ่มความสว่างหน้าจอขึ้น จะทำให้รู้สึกไม่สบายตาได้ง่าย

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงมีข้อแนะนำสำหรับการใช้งานหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดผลกระทบต่อสายตา ดังนี้

 

– ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา ควรสวมแว่นสายตา หรือใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น เลนส์สัมผัส เพื่อให้มีระดับการมองเห็นที่ดีที่สุด เป็นการลดการเพ่งมอง

 

– ปรับความสว่างหน้าจอให้สบายตา และเหมาะสมกับความสว่างภายในห้อง

 

– เลือกขนาดหน้าจอที่ไม่เล็กเกินไป หน้าจอโทรศัพท์ขนาด 3 นิ้ว ก็จะมองภาพได้ง่าย และเกิดการล้าสายตาน้อยกว่าหน้าจอขนาด 2 นิ้ว เป็นต้น

 

– เลือกรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม ไม่ใช้งานหน้าจอติดต่อกันนานๆ หากจำเป็นแนะนำให้พักสายตาประมาณ 10-15 นาที เมื่อใช้งานหน้าจอโทรศัพท์มือถือนานถึงครึ่งชั่วโมง

 

การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งหลายคนก็คงได้ยินกันมาว่า กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตคนเราไปแล้วนั้น ก็ยังคงมีอันตรายอยู่ทุกเมื่อ หากใช้งานไม่ถูกวิธี และใช้งานติดต่อกันมากเกินไ

 

ดังนั้น ควรใช้งานให้ถูกวิธี และถูกต้องเหมาะสม เพื่อถนอมดวงตาที่มีเพียงคู่เดียวเอาไว้ใช้ได้ตราบนานเท่านาน..

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์นายแพทย์ วสุ ศุภกรธนสาร อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา หน่วยต้อหิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล